เว็บไซต์เผยแพร่การศึกษา โดยครูโสภิต จิรัญดร

พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง




ผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย คำว่า "ประชาธิปไตย" แปลว่า "ประชาชนเป็นใหญ่"
คือการที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตย หรือมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่ประชาชนทั้งหมดจะเข้าไป
ปกครองบริหารประเทศทั้งหมดด้วยตนเองย่อมเป็นไปไม่ได้ จึงต้องมอบอำนาจอธิปไตยให้แก่ตัวแทนที่ตนเลือก
เพื่อให้ไปทำหน้าที่แทน ดังนั้นวันเลือกตั้งก็คือวันที่ประชาชนไปมอบอำนาจอธิปไตย
หรือไปมอบหมายหน้าที่ให้แก่ผู้แทนราษฏรที่ตนเลือกนั่นเอง
คุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คุณสมบัติที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน ดังนี้

1. เป็นผู้มิสิทธิเลือกตั้ง
2. อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
3. เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคเดียว
4. มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
5. ต้องไม่เป็นบุคคลที่ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ
6. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าเว้นแต่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา
แต่ถ้าประชาชนเลือกผู้แทนที่ไม่ดี ไม่มีความรู้ความสามารถขาดคุณธรรม ได้รับเลือกตั้งด้วยการทุจริต
ใช้เงินซื้อเสียงหลบเลี่ยงกฎหมาย เมื่อได้เข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชนก็ต้องถอนทุนคืนด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น
เงินงบประมาณที่จะไปพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของ ประชาชนก็รั่วไหล ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
ก็ไม่ได้รับการแก้ไขเพราะตัวแทนที่เลือกเข้าไปไม่มีความคิดรับผิดชอบต่อบ้านเมือง และทรยศต่อประชาชนที่ไว้วางใจ
มอบอำนาจอธิปไตยให้ตนเข้าไปทำหน้าที่แทน การเลือกตั้งจึงมีความสำคัญที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องไป
ทำหน้าที่เลือกตัวแทนทุกครั้งทุกระดับทั้งตัวแทนระดับชาติและระดับท้องถิ่นโดยพินิจพิจารณาเลือก
อย่างละเอียดรอบคอบพิถีพิถัน แม้แต่เราจะเลือกซื้อผักสักกำ ซื้อปลาสักตัวยังเลือกแล้วเลือกอีกกว่าจะตัดสินใจซื้อได้
ดังนั้น ในการเลือกตัวแทนที่จะเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตย เราจึงต้องตัดสินใจให้ดี โดยควรเลือกคนที่มีลักษณะต่อไปนี้
1. มีประวัติส่วนตัว และผลงานที่ผ่านมาดีเป็นที่ยอมรับ กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้องชอบธรรม
2. มีคุณธรรม และความเสียสละไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
3. มีความรู้ความสามารถ คือรู้ปัญหา รู้หน้าที่ และมีแนวคิด หรือข้อเสนอในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน มีความเป็นไปได้
4. มีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย คือ มีเหตุผล ไม่ถือความคิดของตนเป็นใหญ่ เคารพมติเสียงส่วนใหญ่
รับฟังความเห็นของเสียงส่วนน้อย
5. มีการหาเสียงหรือแนะนำตัวอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงกฎกติกาการเลือกตั้ง

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
คนไทยทุกคนที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมาแล้ว
มากกว่า 90 วัน เป็นผู้สิทธิเลือกตั้ง ยกเว้นพระภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช แม่ชี คนวิกลจริต จิตฟั่นเฟือน
ผู้ที่อยู่ในระหว่างจำคุก และผู้ที่อยู่ในระหว่าง ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
หน้าที่ของปวงชนชาวไทย
การไปเลือกตั้งเป็นความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยถือว่า
การเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพื่อให้ได้ตัวแทนที่ตนต้องการ นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้การ
ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ของทุกคน ถ้าไม่ไปโดยไม่แจ้งเหตุก็จะทำให้เสียสิทธิตามที่
กฎหมายกำหนด ดังนี้

การเตรียมพร้อมในเลือกตั้ง
1. การตรวจสอบชื่อ – นามสกุล และที่เลือกตั้ง
• 20 วันก่อนการเลือกตั้ง ไปอ่านประกาศที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ว่าการอบต.
ว่าเราอยู่ในหน่วยเลือกตั้งใด และที่เลือกตั้ง อยู่ที่ใด เรามีชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่
• 15 วันก่อนการเลือกตั้ง เจ้าบ้านจะได้รับแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่อยู่ในทะเบียนบ้านของตน
2. การเพิ่มชื่อ ถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
• ไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนวันเลือกตั้ง หากชื่อตกหล่นไป ให้ยื่นคำร้องขอเพิ่มหรือถอนชื่อ
ผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งออกจากบัญชีต่อ นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ทำการแทน
กกต.เขต
• จนถึงวันเลือกตั้ง เจ้าบ้านสามารถนำหลักฐานทะเบียนบ้านมาแสดงต่อคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)
เพื่อถอนชื่อบุคคล ที่ปรากฏชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในทะเบียนบ้านของตน
3. การเตรียมหลักฐานเพื่อใช้ในการไปลงคะแนน
ก่อนไปลงคะแนนให้เตรียมความพร้อมหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อใช้ในการลงคะแนนเลือกตั้ง ดังนี้
• บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัว ประชาชนที่หมดอายุ
• ใบรับคำขอมีบัตรหรือเปลี่ยนบัตรใหม่ที่ติดรูปถ่าย และประทับตราเจ้าหน้าที่
• ใบแทนใบรับคำขอมีบัตรที่ติดรูปถ่าย และประทับตราเจ้าหน้าที่ (ในสีชมพู)
• บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบัตรประจำตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับบำเหน็จบำนาญ
• หนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศที่มีหมายเลขประจำประชาชน และรูปถ่าย
(กรณีการลงคะแนนในต่างประเทศ)

สิทธิที่เสียไปหากไม่ไปเลือกตั้ง ส.ส.
ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะเสียสิทธิการเมือง 8 ประการดังนี้
1. เสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
2. เสียสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
3. เสียสิทธิร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
4. เสียสิทธิร้องคัดค้านการเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเห็นว่าการเลือกไม่สุจริต
5. เสียสิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมาย
6. เสียสิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้ ส.ว. มีมติถอดถอนบุคคลในตำแหน่งสำคัญ ที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต
7. เสียสิทธิเข้าชื่อขอให้สภาท้องถิ่น เช่น สภา อบต. สภาเทศบาล พิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น
8. เสียสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นสิทธิต่าง ๆ ที่เสียไปจะกลับคืนมา
เมื่อได้ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ส.ส.หรือ ส.ว. ครั้งต่อไป แม้จะไปเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก็ทดแทนกันไม่ได้

การแจ้งเหตุไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
กรณีที่มีเหตุจำเป็นทำให้ไปเลือกตั้งไม่ได้ เช่น มีธุระจำเป็นเร่งด่วนสำคัญต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
จากที่เลือกตั้ง หรืออาศัยอยู่ไกลจาก หน่วยเลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร และไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ในวันเลือกตั้งได้ หรือ เจ็บป่วย พิการ สูงอายุ จนทำให้ไม่อาจเดินทางไป ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ขอให้แจ้งเหตุผลตามแบบ
ส.ว.30ได้ที่นายอำเภอ ปลัดเทศบาลหรือ ผอ.เขตของ กทม. ด้วยตนเองหรือมอบหมายผู้อื่นไปยื่น
แทนหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน สำหรับผู้ที่ไม่ได้แจ้ง ให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ไม่ไปเลือกตั้งได้ที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน
อบต. ฯลฯ หากมีรายชื่อก็ให้แจ้งเหตุอีกครั้งภายใน 30 วัน มิฉะนั้น ท่านจะเสียสิทธิ 8 ประการ

ขั้นตอนการลงคะแนน
1. ตรวจลำดับที่ของตนในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ปิดประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง
2. ยื่นบัตรประจำตัวประชาชน ลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อ พร้อมพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาที่ต้นขั้วบัตร
3. กรรมการจ่ายบัตรเลือกตั้งให้ 2 ใบ
4. เข้าคูหาลงคะแนน ทำเครื่องหมายเลือก โดยใช้ตรายางรูปเครื่องหมายกากบาท ( x ) ประทับหมึกและประทับลงที่ช่อง
ทำเครื่องหมายใน บัตรเลือกตั้งไม่เกินบัตรละ 1 หมายเลข ถ้าไม่ต้องการเลือกใครก็ทำเครื่องหมายที่ช่องไม่ลงคะแนน
5. พับบัตรและหย่อนบัตรด้วยตนเองลงในหีบบัตร

การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า
การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า มี 2 กรณี
กรณีที่ 1 เลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลางของเขตเลือกตั้งโดยไม่ต้องลงทะเบียน
• สามารถลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลางของแต่ละเขตเลือกตั้ง เขตละ 1 แห่ง ยกเว้น กทม.
จัดไว้ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต
• สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น ที่ไม่อาจอยู่ในวันเลือกตั้งโดยมีความจำเป็นต้องเดินทางออกจากเขตเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง
• หรืออาศัยอยู่ต่างเขตเลือกตั้งที่สามารถเดินทางกลับไปลงคะแนนในเขตเลือกตั้งตามทะเบียนบ้าน
และนำหลักฐานว่าจะไม่อยู่ในเขตเลือกตั้ง หรือยู่นอกเขตเลือกตั้งไปแสดงด้วย
• กรณีไม่มีหลักฐานไปแสดงว่าอยู่นอกเขตเลือกตั้งให้ไปกรอกแบบ ทก.1 เพื่อขอลงคะแนน ณ ที่เลือกตั้ง
• เลือกผู้สมัครของเขตเลือกตั้งในจังหวัดที่มีชื่อตามทะเบียนบ้าน 1 คน
กรณีที่ 2 สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่นอกเขตจังหวัดที่ท่านมีชื่อตามทะเบียนบ้านหรือย้ายออกนอกจังหวัดเป็นเวลาน้อยกว่า 90 วัน
สามารถไปใช้ สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ ณ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่โดยไม่ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา
ซึ่ง กกต.จัดไว้จังหวัดละ 1 แห่ง ยกเว้น กทม.จัดไว้ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต แต่ต้อง ยื่นคำร้องขอลงทะเบียนเลือกตั้งก่อน ดังนี้
• ขอรับแบบพิมพ์ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า และยื่นต่อนายอำเภอ ปลัดเทศบาล และผอ.เขตของ กทม.
ในจังหวัดที่เราอาศัยอยู่ด้วยตนเองทางไปรษณีย์ หรือทำหนังสือมอบหมายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอื่นทำหน้าที่แทน
• หลักฐาน สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้และมีหมายเลขประจำตัวประชาชน
สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือรับรองสถานที่อยู่ปัจจุบันจากบริษัท นายจ้าง สถานศึกษา หรือผู้ให้เช่า ฯลฯ
(กรณีย้ายทะเบียนบ้านมาแล้วแต่ไม่ถึง 90 วัน ไม่ต้องมีหนังสือรับรองนี้) พร้อมซองเปล่าติดแสตมป์ จ่าหน้าซองถึงตนเอง
เพื่อรอคำตอบรับจากอำเภอ เทศบาล หรือเขต

**ข้อควรจำ เมื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัดแล้วจะกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ บ้านเดิม
ที่มีทะเบียนบ้านอยู่นั้นไม่ได้ จนกว่าจะขอเปลี่ยนแปลงการลงทะเบียนกลับที่เดิม ส่วนผู้ที่เคยลงทะเบียนไว้ไม่ต้องลงทะเบียนลงทะเบียนอีก
เว้นแต่ประสงค์จะกลับไปใช้สิทธิลงคะแนนตามภูมิลำเนาที่มีชื่อในทะเบียนบ้านจะต้องแจ้งขอเปลี่ยนแปลงการลงทะเบียนใหม่
ณ ที่ว่าการอำเภอที่ท่านมีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
พรรคการเมืองคือ กลุ่มบุคคลที่มีความสนใจในกิจการบ้านเมืองและมีความคิดเห็นทางด้านการเมืองคล้ายกันมารวมกัน
โดยมีจุดประสงค์ที่จะเสนอแนวนโยบายบริหารประเทศ ให้ประชาชนเลือกเข้ามาเป็นผู้แทนในการบริหารประเทศ
ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าถ้ามีพรรคการเมืองเพียง 2 – 3 พรรค เสนอแนวนโยบายการบริหารประเทศให้ประชาชนทั่วไป
ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งผู้แทนแล้วก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปอย่างมาก เพราะจะช่วยทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจ
เลือกผู้แทนไปทำหน้าที่ควบคุมการบริหารประเทศให้เป็นไปตามแนวนโยบายที่ประชาชนต้องการ
ลักษณะสำคัญของพรรคการเมือง
พรรคการเมืองจะสามารถให้ประโยชน์กับประชาชนและช่วยให้ผู้แทนทำหน้าที่ทางการปกครอง
ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะมีลักษณะดังนี้
1. เป็นที่รวมของบุคคลที่มีผลประโยชน์ หรือมีความคิดเห็นทางการเมืองคล้ายกัน
2. มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทน เพื่อทำหน้าที่เป็นรัฐบาลบริหารประเทศในที่สุด
3. มีการจัดระเบียบการบริหารภายในพรรคอย่างเป็นระบบ และมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารพรรค
และสมาชิกธรรมดาของพรรคไว้อย่างแน่ชัดในข้อบังคับ หรือธรรมนูญของพรรค
4. มีการรักษาวินัยของพรรคอย่างเคร่งครัดในหมู่สมาชิกของพรรค
5. มีการขยายตัวให้ใหญ่โตขึ้นโดยการจูงใจของประชาชนทั่วไปสนใจในเป้าหมาย
ของพรรค และเข้าเป็นสมาชิกของพรรคอยู่เสมอ

ระบบพรรคการเมืองของไทย
ระบบพรรคการเมืองในประเทศไทยเป็นระบบหลายพรรค แต่ละพรรคยังเป็นพรรคเล็ก ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนไม่มากนัก
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพรรคการเมืองยังเป็นของใหม่สำหรับประชาชนไทย เนื่องจากเพิ่งเริ่มจัดตั้งและส่งเสริมสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้ง
เป็นผู้แทนเมื่อ พ.ศ. 2495 นี้เอง นอกจากนั้นในระยะหลังการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้ง พรรคการเมืองจะต้องหยุดทำกิจกรรมทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ในการเลือกตั้งทั่วไป ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนจึงนิยมสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่สังกัดพรรคและประสบความสำเร็จ
ในการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากพรรคการเมืองมีความสำคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาดังกล่าว
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 จึงบัญญัติให้ผู้รับสมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคการเมืองส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2540 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันบัญญัติไว้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนต้องสังกัดพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิก
เข้ารับการเลือกตั้ง เป็นผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมด ที่จะมีการเลือกตั้งกันในครั้งนั้น
และในแต่ละเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองดังกล่าวส่งสมาชิกเข้ารับการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้ง
ให้ครบจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ในเขตเลือกตั้ง และจะส่งได้คณะเดียวในเขตเลือกตั้งหนึ่งเขต

บทบาทและหน้าที่ของพรรคการเมือง
1. เลือกสรรผู้นำทางการเมืองให้แก่สังคม โดยการส่งสมาชิกของพรรคเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และการคัดเลือกสมาชิกของพรรคเข้าดำรงตำแหน่งการเมืองสำคัญ ๆ เช่น เป็นรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี
เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมาธิการในรัฐสภาเป็นต้น
2. นำนโยบายที่ได้แถลงไว้แก่ประชาชนไปปฏิบัติ และช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติในกรณีที่ได้รับ
การเลือกตั้งให้มีเสียงข้างมากและได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างน้อย
ก็จะต้องคอยควบคุมดูแล
การบริหารงานของรัฐบาลให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชนมากที่สุด
3. รวบรวมกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆมาอยู่ใต้พรรคการเมืองเดียวกัน ในกรณีนี้พรรคการเมืองจึงเป็นสื่อกลางระหว่าง
รัฐบาลกับประชาชนที่จะช่วยสะท้อนความต้องการและนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของกลุ่มผลประโยชน์เหล่านั้น
4. ให้การเรียนรู้ทางการเมืองแก่ประชาชน พรรคการเมืองมิได้ทำหน้าที่ในการให้การเรียนรู้แก่ประชาชนเฉพาะในระยะ
ที่มีการหาเสียงเลือกตั้งนั้น แม้แต่ภายหลังการเลือกตั้งแล้ว
พรรคการเมืองก็ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชน ด้วยการป้อนข่าวสารข้อมูล และข้อคิดเห็นต่างๆ ในปัญหาสำคัญ ๆที่เกิดขึ้น
ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสนใจในการมีส่วนร่วมในการปกครองด้วย

พรรคการเมืองของไทยกับการเลือกตั้ง
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีรัฐสภาพร้อม ๆ กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ตาม
ในระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2488 คณะราษฎรยังห้ามมิให้มีการก่อตั้งพรรคการเมืองใด ๆ โดยให้เหตุผลว่า
สภาพการเมืองยังไม่เรียบร้อยและคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวิธีเล่นการเมืองในระบบพรรค แต่อาจกล่าวได้ว่า
คณะราษฎรนับเป็นพรรคการเมืองแรกของไทย เพราะมีเป้าหมาย นโยบาย และวิธีดำเนินการดังกล่าว

รัฐบาล หมายถึง คณะบุคคลที่มีอำนาจในการบริหารประเทศซึ่งเรียกว่า “ คณะรัฐมนตรี ” รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี
เป็นสถาบันการปกครองที่สำคัญต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ก็เพราะถ้ารัฐบาลใช้อำนาจหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
และคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนอยู่เสมอ รัฐบาลก็จะสามารถนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติ
และความผาสุกมาสู่ประชาชนได้มากทีเดียว ด้วยเหตุนี้ทุกประเทศจึงพยายามแสวงหาคณะบุคคลที่ซื่อสัตย์
และรักประชาชนมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ

การดำเนินงานของรัฐบาล
รัฐบาลจัดระเบียบการปกครองภายในประเทศโดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้
1) การบริหารราชการส่วนกลาง ซึ่งประกอบด้วยกระทรวง ทบวง กรม โดยมีกระทรวงเป็นหน่วยงานใหญ่ที่สุด
2) การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ การปกครองจังหวัดและอำเภอทั่วราชอาณาจักร ผู้ปกครองจังหวัดเรียกว่า
ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ปกครองอำเภอเรียกว่า นายอำเภอ และมีข้าราชการอื่น ๆ จากกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ
ร่วมกันทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน
3) การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หมายถึง การปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่นที่เจริญแล้ว
ซึ่งมีหลายรูปแบบได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนตำบล การปกครองนครหลวงหรือกรุงเทพมหานคร
และเมืองพัทยา การปกครองโดยองค์กรท้องถิ่นนี้รัฐบาลจะมอบหมายอำนาจหน้าที่บางอย่างให้ไปปฏิบัติ
เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่กฎหมายกำหนดการปกครองส่วนท้องถิ่น
ในส่วนของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งได้แก่ การปกครองจังหวัดและอำเภอดังกล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น
ยังมีการแบ่งย่อยลงไปอีก คือ หมู่บ้าน ( หมู่บ้านเป็นหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุด มีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้า )
ถัดจากหมู่บ้านขึ้นมาก็เป็นตำบล ( ตำบล คือ หมู่บ้านหลาย ๆ หมู่บ้านมารวมกัน มีกำนันเป็นหัวหน้า )
และนอกจากนี้ยังมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น
ในการปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ รัฐบาลส่งเสริมให้มีการเลือกตั้งบุคคลมาทำหน้าที่ต่าง ๆ ในการบริหาร
เพื่อเป็นการวางรากฐานอันมั่นคงให้แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยการฝึกฝนให้ประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ
รู้จักการปกครองในท้องถิ่นของตนในรูปแบบต่าง ๆ
ในพื้นที่หนึ่ง ๆ เมื่อมีราษฏรผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นผู้บรรลุนิติภาวะไปสร้างบ้านเรือนและทำมาหากินเป็นเวลานาน
เมื่อกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควรยกฐานะให้เป็นหมู่บ้านได้ก็จะมีพระราชกฤษฏีกายกฐานะตามพระราชบัญญัติให้เป็นหมู่บ้านต่อไป
หลังจากนั้นก็จะมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมาย สำหรับกำนันจะเป็นหัวหน้าหน่วยการปกครองตามพระราชบัญญัติส่วนตำบล
ซึ่งบุคคลในตำแหน่งทั้งสองที่จะเข้ามาปกครองและดูแลทุกข์สุขของราษฏรนั้นได้ จะต้องมาจากการเลือกตั้ง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1) การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กระทรวงมหาดไทยได้วางระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างรัดกุม ซึ่งมีดังนี้
1. ให้ราษฏรผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสนอชื่อผู้ที่เห็นสมควรเป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยมีผู้รับรอง 3 คน จึงจะรับชื่อนั้นเข้าบัญชีคัดเลือก
2. ชื่อที่จะเสนอ จะเสนอกี่ชื่อก็ได้ตามแต่ราษฏรผู้เลือกตั้งจะเห็นสมควร
3. นายอำเภอหรือผู้รักษาราชการแทนตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ
4. การลงคะแนนเสียงจะหาโดยวิธีลับหรือเปิดเผยก็ได้ โดยอยู่ในดุลยพินิจของนายอำเภอ (หากใช้วิธีลับ ต้องมีพยานรู้เห็นอย่างน้อย 3 คน )
5. วิธีการลงคะแนนจะให้ราษฏรลงคะแนนลับ หรือเขียนชื่อในบัตรก็ได้ เสร็จแล้วต้องเก็บหลักฐานไว้ที่อำเภอ
6. รายงานขอแต่งตั้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีที่ผู้รับเลือกตั้งมีคะแนนเสียงเท่ากันให้ใช้วิธีการจับฉลาก
2) การเลือกกำนัน กฎหมายกำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดในตำบลนั้นเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นเป็นกำนัน
โดยให้นายอำเภอเป็นประธานในการเลือกตั้งและรายงานผลไปยังจังหวัด เพื่อให้จังหวัดออกกฎหมายตั้งให้เป็นกำนันโดยสมบูรณ์ต่อไป
การเลือกตั้งกำนันได้เปลี่ยนแปลงวิธีการเรื่อยมา เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ
กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง เพื่อให้สิทธิแก่ประชาชนในการเลือกตั้ง
และสมัครรับเลือกตั้งโดยกว้างขวาง

หน้าที่ของลูกเสือที่พึงมีต่อประเทศชาติ
ลูกเสือทุกคนเป็นประชาชนชาวไทยตามกฎหมาย ดังนั้น ลูกเสือจึงพึงปฏิบัติตามในฐานะเป็นพลเมืองดีคนหนึ่ง
ตามหน้าที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ดังนี้
1. รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เอกราช และการปกครองระบอบประชาธิปไตย
2. มีหน้าที่ป้องกันประเทศ
3. หน้าที่รับราชการทหาร
4. มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย
5. มีหน้าที่ช่วยเหลือราษฏร



 

 


 
 

 

 
 


 
 

 
 
 
หนังสืออ้างอิง
 
  กวี พันธุ์มีเชาว์ และคณะ. เกมลูกเสือ เนตรนารี 335 เกม (ฉบับปรับปรุง).พิมพ์ครั้งที่ 3.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2543.
นิชัฎ คำสมาน. กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด, 2547.
มูลนิธิ, คณะลูกเสือแห่งชาติ. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ม.3. กรุงเทพ : อักษรเจริญทัศน์, 2548.
มูลนิธิ, คณะลูกเสือแห่งชาติ. กิจกรรมลูกเสือเนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ เครื่องหมายลูกเสือโลก.
กรุงเทพ : อักษรเจริญทัศน์, 2538.
อำนาจ เจริญศิลป์.นิทานรอบกองไฟ.พิมพ์ครั้งที่ 9.กรุงเทพฯ : รุ่งแสงการพิมพ์, 2546.
 
     

 
     
 


 
 
 
© Copyright เมษายน 2551