เว็บไซต์เผยแพร่การศึกษา โดยครูโสภิต จิรัญดร



หน้าที่ของหมู่ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่

เมื่อคนหลาย ๆ คนมาอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม หากไม่มีการตั้งกติกา
หรือระเบียบวินัย รวมทั้งไม่มีการแบ่งภาระหน้าที่กันไว้ กลุ่มที่จะทำกิจกรรมให้สำเร็จลุล่วงไปได้โดยยาก
และยังอาจเกิดปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ ขึ้นในกลุ่มอีกมากหมาย เช่น ทำงานซ้ำซ้อนหรือก้าวก่ายกัน
เกี่ยงกันทำงาน ทะเลาะวิวาทกัน เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม ถ้ากลุ่มมีการตั้งกติกาหรือระเบียบวินัย
มีการแบ่งอำนาจและภาระหน้าที่ให้กับคนในกลุ่มไว้เป็นอย่างดีแล้ว กลุ่มก็จะทำกิจกรรมให้สำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งยังทำให้เกิดความรักความสามัคคีกันระหว่างคนในกลุ่มอีกด้วย
ตำแหน่งหน้าที่หมู่ลูกเสือมีดังนี้
1. นายหมู่
2. พลาธิการ
3. หัวหน้าคนครัว
4. หัวหน้าคนหาน้ำ
5. หัวหน้าคนหาฟืน
6. เบ็ดเตล็ดทั่วไป
7. เบ็ดเตล็ดทั่วไป
8. รองนายหมู่

กองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่


กองลูกเสือของโรงเรียนจะมีลูกเสือประเภทต่าง ๆ แตกต่างกันไปตามสภาพของโรงเรียน
เช่น โรงเรียนระดับประถมศึกษาก็จะมี ลูกเสือสำรองและลูกเสือสามัญ โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
จะมีลูกเสือสามัญกับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา
ก็จะมี ลูกเสือวิสามัญ แต่อย่างไรก็ตาม กองลูกเสือของทุกโรงเรียนในกองหนึ่ง ๆ จะประกอบด้วย
หมู่ลูกเสืออย่างน้อย 2 หมู่ แต่ไม่เกิน 6 หมู่ ยกเว้นกองลูกเสือวิสามัญต้องมีลูกเสือตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
จึงจะตั้งเป็นกองลูกเสือได้ โดยลูกเสือแต่ละกองจะต้องมี ผู้กำกับลูกเสือ ควบคุมดูแลกองละ 1 คน
และมีรองผู้กำกับลูกเสือ อย่างน้อยกองละ 1 คน เป็นผู้ช่วย ( อาจมีรองผู้กำกับหลายคนก็ได้ )
หมู่ลูกเสือของกองลูกเสืออาจมีจำนวนลูกเสือไม่เท่ากันก็ได้ เช่น หมู่ของลูกเสือสำรอง
อาจมีลูกเสือตั้งแต่ 4 - 6 คน หมู่ของลูกเสือสามัญมีจำนวนลูกเสือ 6 - 8 คน
หมู่ของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่มีจำนวนลูกเสือ 4 - 8 คน สำหรับลูกเสือวิสามัญแบ่งเป็นหมู่หรือชุด
เพราะเป็นลูกเสือที่โตแล้ว ชุดละ 4 - 6 คน ทุกหมู่จะต้องมี นายหมู่ลูกเสือ เป็นหัวหน้าและรองนายหมู่
เป็นรองหัวหน้า

จะเห็นได้ว่า กองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่แต่ละกองมีลูกเสือเป็นจำนวนมาก
จึงจำเป็นต้องมีระเบียบแบบแผนและการแบ่งภาระหน้าที่ของลูกเสือในกองไว้อย่างชัดเจน
กองลูกเสือจึงจะสามารถอยู่ได้อย่างมีระเบียบวินัย และสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คณะกรรมการดำเนินงานกองลูกเสือ

ลูกเสือจะมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ อาจเป็นกิจกรรมภายในกองหรือภายในหมู่ก็ได้
เพื่อให้กิจกรรมที่จะจัดขึ้นนี้ เป็นกิจกรรมที่เหมาะสม สามารถนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าให้กับกองหรือหมู่ลูกเสือ
รวมทั้งเพื่อให้กิจกรรมที่จัดนั้นสามารถสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ดังนั้น ในกองลูกเสือหนึ่ง ๆ จึงควรจัดตั้ง
คณะกรรมการดำเนินงานกองลูกเสือขึ้น
คณะกรรมการดำเนินงานกองลูกเสือนี้ จะมีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง ในกรณีที่จำเป็น
จะเชิญผู้บังคับบัญชาเข้าร่วมประชุมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของที่ประชุมด้วยและในการประชุมทุกครั้ง
ให้เลขานุการฯ เป็นผู้บันทึกการประชุมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ

 

๑. โครงสร้างการจัดองค์กรของคณะกรรมการดำเนินงานกองลูกเสือ คณะกรรมการดำเนินการกองลูกเสือ
ประกอบด้วยลูกเสือดังแผนภูมิต่อไปนี้

แผนภูมิแสดงการจัดองค์กรของ “ คณะกรรมการดำเนินงานกองลูกเสือ


 
 

บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินงานกองลูกเสือ

บทบาทของคณะกรรมการดำเนินงานกองลูกเสือ
ลูกเสือที่เข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการดำเนินงานกองลูกเสือ
จำเป็นต้องมีบทบาทในฐานะเป็นผู้นำของกองลูกเสือ ซึ่งกระทำได้โดยปฏิบัติดังนี้
๑. ปฏิบัติกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายด้วยความศรัทธา
๒. วางตัวและปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอต่อสมาชิกทุกคน
๓. ยึดมั่นในคำปฏิญาณและกฎของลูกเสืออย่างมั่นคง
๔. ต้องควบคุมอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ
๕. หมั่นพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับตนเอง
๖. หมั่นศึกษาและเรียนรู้ถึงสภาพความต้องการและความสนใจของสมาชิก
๗. ต้องเป็นผู้ประสานงานที่ดีให้แก่หมู่คณะ
๘. ส่งเสริมความสามัคคีให้เกิดแก่หมู่คณะ
๙. สละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขของหมู่คณะ
หน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินงานกองลูกเสือ
คณะกรรมการดำเนินงานกองลูกเสือมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
๑. วางแผนและจัดรายงานกิจกรรมประจำกองลูกเสือ
๒. บริหารกิจกรรมภายในกองลูกเสือ
๓. รักษาเกียรติของลูกเสือ
๔. ควบคุมการรับ - จ่ายเงินของกองลูกเสือ
๕. ประสานการติดต่อกับบุคคลภายนอก
๖. พิจารณาแต่งตั้งให้ลูกเสือภายในกองเป็น “หัวหน้ากิจกรรม”
ในโอกาสที่มีกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ เป็นครั้งคราว

 
 

แผนปฏิบัติงานของกองลูกเสือ
ลูกเสือนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ
ลูกเสือเป็นส่วนสำคัญยิ่งของสังคม เพราะไม่ว่าจะมีงานอะไร งานเล็กหรืองานใหญ่
จะต้องมีลูกเสือเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยเสมอโดยเฉพาะงานวันที่ ๕ ธันวามหาราชของทุกปี
ลูกเสือจะได้รับเกียรติเป็นอย่างมาก เพราะทางกรมตำรวจได้แต่งตั้งให้ลูกเสือที่มีหน้าที่บริการ
และรักษาการณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายด้วย นี่คือความสำคัญของลูกเสือที่สามารถ
ทำหน้าที่แทนผู้ใหญ่ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
ลูกเสือมีกิจกรรมที่จะต้องบำเพ็ญประโยชน์และบริการต่อสังคมมากมาย
ทั้งยามเหตุการณ์ปกติและฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม และภัยอื่น ๆ ทุกชนิด
กองลูกเสือแต่ละกองจึงมีกิจกรรมมากมายที่จะต้องปฏิบัติตลอดปี

ตัวอย่างแผนปฏิบัติกิจกรรมของกองลูกเสือ
แผนปฏิบัติงานของกองลูกเสือที่จะกล่าวต่อไปนี้ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ตามลักษณะของกิจกรรม ดังนี้
๑. กิจกรรมวันสำคัญประจำปี
๒. กิจกรรมพิธีการลูกเสือ - เนตรนารี
๓. กิจกรรมในวันสำคัญของลูกเสือ - เนตรนารี
๔. กิจกรรมเกี่ยวกับสังคมและชุมชน

 
 

 
 
 
หนังสืออ้างอิง
 
  กวี พันธุ์มีเชาว์ และคณะ. เกมลูกเสือ เนตรนารี 335 เกม (ฉบับปรับปรุง).พิมพ์ครั้งที่ 3.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2543.
นิชัฎ คำสมาน. กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด, 2547.
มูลนิธิ, คณะลูกเสือแห่งชาติ. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ม.3. กรุงเทพ : อักษรเจริญทัศน์, 2548.
มูลนิธิ, คณะลูกเสือแห่งชาติ. กิจกรรมลูกเสือเนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ เครื่องหมายลูกเสือโลก.
กรุงเทพ : อักษรเจริญทัศน์, 2538.
อำนาจ เจริญศิลป์.นิทานรอบกองไฟ.พิมพ์ครั้งที่ 9.กรุงเทพฯ : รุ่งแสงการพิมพ์, 2546.
 
     

 
     
 


 
 
 
© Copyright เมษายน 2551