เว็บไซต์เผยแพร่การศึกษา โดยครูโสภิต จิรัญดร



ประวัติการปกครองระบอบประชาธิปไตย

1.1 สาเหตุการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- ปัญญาชนรุ่นใหม่ต้องการมีส่วนร่วมในการปกครอง
- ประชาชนเริ่มตื่นตัวทางการเมืองจากอิทธิพลของหนังสือพิมพ์
- ผลจากการปฏิวัติในประเทศต่าง ๆ
- คนรุ่นใหม่เห็นว่าการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล้าสมัย
1.2 คณะปฏิวัติหรือ คณะราษฏร์ ได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จเมื่อ
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
คณะราษฏร์ซึ่งมี พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้า มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้
- จะต้องรักษาเอกราชทั้งทางการเมือง การศาล และเศรษฐกิจให้มั่นคง
- จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ
- จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเท่าเทียมกัน
- จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ
1.3 คณะราษฎร์ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในวันที่ 27 มิถุนายน และใน
วันที่ 28 มิถุนายน มีพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก
และในที่สุดได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
1.4. ผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
- ยกเลิกการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตย
- มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
- พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชฐานะและพระราชอำนาจตามที่ประบุไว้
ในรัฐธรรมนูญทั้งนี้พระองค์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทางอ้อม 3 ประการ คือ
- อำนาจนิติบัญญัติ ผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร
- อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี
- อำนาจตุลาการ ผ่านทางศาลยุติธรรม
การปกครองเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ครอบครัว สมาคม ตลอดจนประเทศชาติ
ที่มีคนอยู่ร่วมกันมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี จึงจำเป็นต้องมีกฎข้อบังคับ หรือระเบียบปฏิบัติ
เพื่อควบคุมความประพฤติและการปฏิบัติตนของคนที่อยู่ร่วมกันนั้น ให้มีแนวทางประพฤติปฏิบัติต่อกัน
เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความผาสุกและก้าวหน้า ข้อบังคับการประพฤติปฏิบัติของคนในประเทศ
ได้แก่กฎหมาย ซึ่งได้แก่ นิติบัญญัติ คือ การบัญญัติกฎหมาย และเมื่อบัญญัติขึ้นแล้วก็ต้องมีการ บริหาร
คือมีผู้ทำการดูแลให้เป็นไปด้วยดี หากเกิดมีปัญหาใดขึ้นมาและต้องพิจารณาว่า
การกระทำนั้นควรกระทำหรือควรงดเว้นการกระทำ เพราะผิดกฎหมายหรือไม่
เพียงใด ก็ต้องมีฝ่าย ตุลาการ เป็นคนกลาง และมิอิสระในการที่จะพิจารณาคดีนั้น ๆ
ตุลาการจึงเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย
หรือตีความกฎหมายให้เกิดผลดีในการปฏิบัติของคนในสังคม


การปกครองระบอบประชาธิปไตย
ระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในรัฐ
ลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
การปกครองระบอบประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นในสมัยกรีกโบราณ
โดยมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
- ลักษณะทางสังคม คือ ความเสมอภาคในการดำเนินชีวิต ทุกคนมีส่วนเท่าเทียมกัน
- ลักษณะทางเศรษฐกิจ คือ ประชาชนมีโอกาสจะได้รับประโยชน์สุขทางเศรษฐกิจ
- ลักษณะทางการเมือง คือ ประชาชนมีสิทธิทางการเมือง เช่น การออกเสียงเลือกตั้ง

หลักการระบอบประชาธิปไตย มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจรัฐ
2. ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง
3. หลักการปกครองเพื่อประโยชน์ของประชาชน
4. การใช้หลักเหตุผล คือ นำเหตุผลมาประกอบความคิดเห็นในการดำเนินงานต่าง ๆ
5. หลักความยินยอม หลักประชาธิปไตยต้องการให้มีการกระทำด้วยความสมัครใจ
6. หลักการปกครองโดยเสียงข้างมากในการแสวงหาข้อยุติการตัดสินใจ
7. รัฐบาลมีอำนาจจำกัดและจำเป็น โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
8. หลักเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการใช้สิทธิอันชอบธรรม
9. หลักการประนีประนอม กล่าวคือ พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยทางตรง คือ ให้ประชาชนของประเทศใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง
ในทางปฏิบัติจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อประเทศนั้นมีจำนวนประชากรไม่มากนัก
สามารถร่วมประชุมปรึกษาหารือกันได้โดยตรงไม่ต้องมีตัวแทน
ประชาธิปไตยทางอ้อม คือ ประชาชนจะเลือกผู้แทนมาทำหน้าที่ปกครองประเทศแทนตน
โดยให้เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในด้านต่าง ๆ เช่น อำนาจนิติบัญญัติ เป็นต้น
ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ก็ใช้หลักการของระบอบประชาธิปไตยทางอ้อมทั้งสิ้น
ซึ่งปรากฏในรูปแบบต่างๆ กัน ดังนี้
1. ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
2. ประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี
3. การปกครองแบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา
แนวความคิดที่จะนำเอารูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในประเทศไทย
ได้เริ่มต้นขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์
ทรงดำเนินรัฐประศาสโนบาย เพื่อเป็นการปูพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อย่างค่อยเป็นค่อยไปดังเช่น โปรดเกล้าฯให้ตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ เพื่อถวายคำปรึกษาและความคิดเห็นต่างๆเกี่ยวกับ
การปกครอง
ในปีพุทธศักราช 2475 หรือการปฏิรูประบบราชการ ปีพุทธศักราช 2435
และที่สำคัญคือการเลิกทาสซึ่งนับเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็น
ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ช่วงเวลานั้นกระแสการเรียกร้องการปกครองมีความรุนแรงมากขึ้นจนในที่สุด
ก็มีกลุ่มที่เรียกตนเองว่า "คณะราษฎร์"ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
ในวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475
หลังจากนั้นประเทศไทยได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจนถึงปัจจุบัน

 
พระมหากษัตริย์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

 
 

สังคมทุกสังคมจะเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นได้ ย่อมต้องมีระเบียบวินัยและผู้นำของสังคมเป็นหลักในการปกครอง
ผู้นำของสังคมระดับประเทศโดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย
์ สำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
แต่การใช้พระราชอำนาจด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ทรงมิได้ใช้พระราชอำนาจเหล่านั้น
ด้วยพระองค์เอง แต่มีองค์การหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบต่าง ๆ กันไป
พระราชอำนาจทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นฐานะประมุขของรัฐ หรือในฐานะอื่น ได้ถูกกำหนดไว้โดยชัดแจ้ง ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับกำหนดรูปแบบการปกครองและประมุข
แห่งรัฐไว้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นการเทิดทูนพระมหากษัตริย์ คือ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ
ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และรัฐธรรมนูญยังกำหนดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
โดยให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของประชาชนโดยใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา
อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรีและอำนาจตุลาการผ่านทางศาล การกำหนดเช่นนี้หมายความว่าอำนาจต่างๆ
จะใช้ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในความเป็นจริงอำนาจเหล่านี้มีองค์กรเป็นผู้ใช้ ฉะนั้นการที่บัญญัติว่า
พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการผ่านทางองค์กรต่าง ๆ นั้น
จึงเป็นการเทิดพระเกียรติ แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่องค์กรที่เป็นผู้พิจารณานำขึ้นทูลเกล้าถวาย
เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
 
 

 
 

พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญของไทยแม้จะได้รับการเชิดชู
ให้อยู่เหนือการเมืองและกำหนดให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการ
ปฏิบัติทางการปกครองทุกอย่างแต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงมีอำนาจบางประการ
ที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญและเป็นพระราชอำนาจที่ทรงใช้ได้
ตามพระราชอัธยาศัยจริง ๆ ได้แก่ การแต่งตั้งคณะองคมนตรี การแต่งตั้ง
ข้าราชการในพระองค์ และสมุหราชองครักษ์ การแก้ไขเพิ่มเติมกฏมณเทียรบาล
ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นต้น
พระราชอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง
คือ พระราชอำนาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์
ทรงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภามาแล้ว
และนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อพระมหากษัตริย์
ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ แต่พระองค์อาจใช้พระราชอำนาจยับยั้งได้
เช่น กรณีพระราชบัญญัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ซึ่งรัฐสภาจะต้องนำร่างพระราชบัญญัติที่ถูกยับยั้งนั้นไปพิจารณาใหม่
 
 

พระราชอำนาจพระมหากษัตริย์
 
  พระราชสถานะและพระราชอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกฉบับยืนยันความเป็นประมุขสูงสุดของพระมหากษัตริย์ โดยบัญญัติว่า
องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ
ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้
หมายความว่า ผู้ใดจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ไม่ได้ผู้ละเมิดต่อ
พระมหากษัตริย์ถือว่าเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง
การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้
พระมหากษัตริย์ได้รับการเชิดชูให้อยู่เหนือการเมืองและกำหนดให้มีผู้รับสนอง
พระบรมราชโองการในการดำเนินการทางการเมืองการปกครองรัฐธรรมนูญได้กำหนด
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ดังนี้
1. ทรงใช้อำนาจอธิปไตย พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจอธิปไตย เช่น
อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการดังนี้
ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทางใช้อำนาจ
ในการออกกฎหมาย คำแนะนำ และยินยอมของรัฐสภา เมื่อรัฐสภาร่างกฎหมายขึ้นแล้ว
จะทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายตามขั้นตอน
ของรัฐธรรมนูญ
ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี หมายความว่า การบริหารราชการแผ่นดิน
ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีดำเนินการไปนั้นถือว่ากระทำไปในพระปรมาภิไธย
ทั้งนี้เพราะบรรดาพระราชบัญญัติพระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา พระราชหัตถเลขา
และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติและรับผิดชอบทั้งสิ้น
โดยนายกรัฐมนตรีจะต้องกราบบังคมทูลและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการพระราชอำนาจ
ทางด้านบริหารดังกล่าวได้แก่ การตราพระราชกฤษฎีกาไม่ขัดต่อกฎหมาย
การประกาศใช้และยกเลิกใช้กฎอัยการศึก การประกาศสงคราม เมื่อได้รับความเห็นชอบ
ของรัฐสภา การทำสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึกหรือสนธิสัญญาอื่นกับนานาประเทศ
หรือกับองค์การระหว่างประเทศและการพระราชทานอภัยโทษ
ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล หมายถึง ศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ
ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและการพ้นจาก
ตำแหน่งของผู้พิพากษาและตุลาการก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการจะต้อง
ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์
2. ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้
หมายความว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงอยู่ภายใต้กฎหมายก็เพียงเฉพาะกฎหมาย
รัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ทรงอยู่เหนือกฎหมายอื่น ๆ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้อง
ตามกฎหมายใด ๆ มิได้ ทั้งนี้ก็เพราะต้องการเทิดทูนองค์พระประมุขของชาติ
พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิด (The King can do no wrong) หมายความว่า
พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบในพระบรมราชโองการหรือการกระทำใน
พระปรมาภิไธยของพระองค์ในกรณีที่มีความเสียหายบกพร่องเกิดขึ้น
ผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการจะต้องรับผิดชอบ
3. ทรงเป็นุพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก นั่นก็คือทรงเป็น
ผู้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาขณะเดียวกันก็ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ
ทรงทำนุบำรุงอุปถัมภ์ศาสนาทั้งปวงในขอบขันฑสีมาด้วยโดยไม่เลือกแบ่งแยกว่า
เป็นศาสนาใด
4. ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย คำว่า พระมหากษัตริย์ หมายถึง
นักรบผู้ยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์ในอดีตจึงต้องทรงนำทัพออกศึกด้วยพระองค์เอง
ปัจจุบันแม้การรบจะไม่เกิดมีขึ้นแล้วก็ตาม แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงเป็นมิ่งขวัญ
ของเหล่าทหารหาญ และเหนือสิ่งอื่นใดทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
ตามที่รัฐธรรมนูญได้ถวายพระเกียรติยศไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ว่า พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงตำแหน่ง
จอมทัพสยาม และนับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา รัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นภายหลังก็ได้มี
บทบัญญัติทำนองเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ทุกฉบับ พระราชสถานะ จอมทัพไทย
ตามรัฐธรรมนูญนี้ได้จำหลักลงในสำนึกของทหารไทยทุกคนเริ่มตั้งแต่ธงไชยเฉลิมพล
ประจำกองทหารนั้น ก็เป็นมงคลสูงสุดสำหรับหน่วย ด้วยเหตุว่าเป็นของที่ได้รับพระราชทาน
และได้บรรจุเส้นพระเจ้า(เส้นผม) ไว้ในพระกรัณฑ์(ตลับ) บนยอดปลายสุดของธง
ดังนั้นเมื่อ กองทหารและธงไชยเฉลิมพลไปปรากฏอยู่ ณ ที่ใด ก็เสมือนหนึ่งว่า
พระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินร่วมไปด้วยในกองทัพนั้น
ทหารไทยจึงมีขวัญมั่นคงเพราะต่างทราบดีว่าตนปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยเพื่อ
ประโยชน์สูงสุดของชาติเช่นเดียวกับพระประมุขของตนนั่นเอง
5.ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทาน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติ ทรงไว้ซึ่ง
พระราชอำนาจที่จะพระราชทานเกียรติยศแก่ชนทุกชั้นไม่ว่าจะเป็นฐานันดรศักดิ์
แห่งพระราชวงศ์สมณศักดิ์ (ฐานันดรศักดิ์ของพระภิกษุสงฆ์) และบรรดาศักดิ์
(ฐานันดรศักดิ์ของขุนนางข้าราชการ) และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ
ที่จะพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกตระกูลทุกลำดับชั้น
ด้วยการที่จะทรงสถาปนาฐานันดรศักดิ์หรือพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น
อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังคงมีธรรมเนียมที่จะทรงสถาปนาฐานันดรศักดิ์
แห่งพระราชวงศ์และพระราชทานสมณศักดิ์อยู่
แต่สำหรับบรรดาศักดิ์ขุนนางหรือข้าราชการนั้นปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว
6. ทรงเลือกและแต่งตั้งองคมนตรี คณะองคมนตรี คือ คณะที่ปรึกษา
ของพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่ถวายความเห็นต่อองค์พระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจ
ทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษาองคมนตรีประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ
โดยมีประธานองคมนตรีคนหนึ่งกับองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คน
7. ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
หมายถึง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ใน
ราชอาณาจักรหรือทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้เช่นประชวร ทรงผนวช
ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเมื่อราชบัลลังก์ว่างลง
8. ทรงแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
กฎมณเฑียรบาลหมายถึง กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นใช้บังคับในกิจการ
ส่วนพระองค์ เช่น พระราชพิธีต่าง ๆ กิจการที่เกี่ยวกับสมาชิกแห่งพระราชวงศ์
หรือกิจการที่เกี่ยวกับราชสำนักหรือภายในเขตพระราชฐาน
โดยไม่เกี่ยวกับราษฎรอื่น ๆ
การสืบราชสมบัติ หมายถึง การขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
ซึ่งนับต่อเนื่องจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนมิให้ขาดตอนกันอันเป็นธรรมเนียมนานาประเทศ
9. ทรงทำหนังสือสัญญา ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือ
สัญญาสันติภาพ สัญญา สงบศึกและสัญญาอื่นๆกับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
10. ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษา ข้าราชการในพระองค์
และข้าราชการระดับสูง
11. พระราชทานอภัยโทษ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะ
อภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษโดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 
 

อำนาจอธิปไตยของไทย

 
  อำนาจอธิปไตย หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบ
ที่สำคัญของการปกครองของรัฐที่มีอิสระ เสรีภาพ และมีความเป็นเอกราช
มีอำนาจในการบริหารราชการ ทั้งกิจการภายในและนอกประเทศได้อย่างเต็มที่
โดยทั่วไปอำนาจอธิปไตยแยกใช้เป็น 3 ลักษณะ คือ อำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ระบุว่า อำนาจอธิปไตย
เป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา
คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งหมายความว่า
ในทางการเมืองประชาชนมีอำนาจสูงสุด แต่การใช้อำนาจทางกฎหมายต้องใช้ผ่าน
สถาบันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลที่พิพากษา อรรถคดีตามกฎหมายที่บัญญัติไว้แล้ว
ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์และตามขอบเขตรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น
ดังนั้นองค์ประกอบของผู้ใช้อำนาจก็คือ ต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันนิติบัญญัติ
สถาบันบริหาร และสถาบันตุลาการ อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าอำนาจอธิปไตยตามกฎหมาย
ไม่ได้อยู่ที่รัฐสภาเท่านั้น แต่แยกกันอยู่ใน 3 สถาบันหลักดังกล่าว
ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าอำนาจใดใหญ่ที่สุดหรือสำคัญกว่ากัน
การกำหนดให้แยกการใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ส่วน และให้มีองค์กร 3
ฝ่ายเป็นผู้รับ ผิดชอบไปแต่ละส่วนนี้ เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยที่ไม่ต้องการให้มี
การรวมอำนาจ แต่ต้องการให้มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน เพราะถ้าให้องค์กรใดเป็น
ผู้ใช้อำนาจมากกว่าหนึ่งส่วนแล้ว อาจเป็นช่องว่างให้เกิดการใช้อำนาจแบบเผด็จการได้
ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ มีดังนี้
1. อำนาจนิติบัญญัติ หรือ สถาบันนิติบัญญัติ หมายถึง สถาบันที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย
คือรัฐสภา ซึ่งมีรูปแบบเป็นสภาคู่หรือ 2 สภา ประกอบด้วย
1.1 สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวน 400 คน
และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน รวม 500 คน มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย
1.2 วุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
มีจำนวน 200 คน มีหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองพระราชบัญญัติโดยถี่ถ้วน
ไม่ต้องผูกพันกับฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งและถอดถอน
ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของบ้านเมืองเช่นนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง
อัยการสูงสุด เป็นต้น
2. อำนาจบริหาร หรือ สถาบันบริหาร หมายถึงบุคคล คณะบุคคล กลุ่มบุคคล
หรือองค์กรที่นำนโยบายของรัฐไปดำเนินการและนำไปปฏิบัติ นอกจากจะเป็นสถาบัน
สร้างกฎหมายแล้ว ยังเป็นสถาบันสร้างนโยบายบริหารประเทศด้วย ประกอบด้วย
2.1 ข้าราชการการเมือง คือ ข้าราชการซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
ให้มาทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารบ้านเมือง
2.2 ข้าราชการประจำ คือ บุคลากรซึ่งเป็นกลไกหรือเครื่องมือในการนำนโยบาย
และกฎหมายไปปฏิบัติ ซึ่งต้องปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมา มีประสิทธิภาพสูง
มีความรอบรู้ในหลักวิชาการ มีประสบการณ์ และมีระเบียบประเพณีการประพฤติปฏิบัติที่
เป็นแบบอย่าง มีสายการบังคับบัญชาของข้าราชการประจำอย่างชัดเจน
มีการแบ่งงานกันทำเฉพาะอย่างตามความชำนาญ
3. อำนาจตุลาการ หรือ สถาบันตุลาการ หมายถึง ศาลและผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่
ในนามของรัฐ หรือในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ อำนาจตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
มีสาระสำคัญ 2 ประการดังนี้
3.1 อำนาจตุลาการในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญของไทยในอดีต
ได้แยกอำนาจระหว่างอำนาจตุลาการและอำนาจนิติบัญญัติไว้อย่างชัดเจน
โดยจัดอำนาจตุลาการให้มีความอิสระจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ
รัฐสภาจะก้าวก่ายอำนาจของศาลไม่ได้
3.2 ศาล รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้วางหลักทั่วไปเกี่ยวกับหลักการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีว่าเป็นอำนาจศาล
ซึ่งศาลในที่นี้หมายถึง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลทหาร
ศาลยุติธรรม และศาลอื่นๆ
 
© Copyright เมษายน 2551